สีสันตลาดเกิดใหม่ ธุรกิจรถยนต์ลาว (เก็บไว้น่าสนใจดี)
สีสันตลาดเกิดใหม่ ธุรกิจรถยนต์ลาว
ตลาดรถยนต์ สปป.ลาว เป็นตลาดที่เพิ่งถูกสร้างให้มีความคึกคักขึ้นในช่วงไม่เกิน 5 ปีมานี้เอง ความที่เป็นตลาดเกิดใหม่ จึงมีเรื่องราวที่มีสีสัน สนุกสนาน และน่าสนใจจนสมควรจะต้องบันทึกเอาไว้
“ต่อไปที่จอดรถคงจะไม่เหลือ เพราะบนถนนมีแต่รถวิ่งเต็มไปหมด” เสียงของแก้วเวียงคำ บ่นกับผู้โดยสารที่เพิ่งว่าจ้างเขาจากหน้าด่านสะพานมิตรภาพฯ ให้เข้ามาส่งในตัวเมืองเวียงจันทน์ ถึงเรื่องการหาที่จอดรถในตัวเมือง
“รถ เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เดี๋ยวนี้ ตอนเช้ากับตอนเย็น รถติดยาว 2-3 ไฟแดงถึงจะได้ผ่าน” เสียงบ่นยังแว่วมาให้ได้ยินต่อ แม้สามารถหาที่จอดรถได้แล้ว
นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ทุกวันนี้ กำลังเผชิญกับปัญหารถติด และขาดแคลนที่จอดรถ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีนี้
สาเหตุมาจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก ขณะที่การขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะถนนหนทางในตัวเมือง ไม่สามารถรองรับได้ทัน
ตัว เลขจากกระทรวงการค้า ระบุถึงปริมาณรถยนต์ที่ถูกนำเข้าสู่ สปป.ลาว ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2548 (2005) ถึงปี 2552 (2009) เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยมากกว่าปีละ 20% (ดู “ยอดนำเข้ารถยนต์ของ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2005-2009” ประกอบ)
หาก คิดเป็นจำนวนคัน ในระยะ 5 ปีดังกล่าว มีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาใน สปป.ลาว ถึง 513,669 คัน ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรลาวทั้งประเทศ มีเพียง 6 ล้านกว่าคน หรือหากเปรียบเทียบเป็นจำนวนคันระหว่างปี ยอดนำเข้ารถยนต์ในปี 2552 สูงกว่ายอดนำเข้าในปี 2548 ถึงกว่า 1 เท่าตัว โดยเฉพาะรถกระบะ
“น่า สนใจครับ ตลาดลาว ยอมรับว่าตลาดรถยนต์ในเมืองลาวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แล้ว เป็นตลาดที่แปลก แปลกตรงที่ว่า บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยเกิดในเมืองไทย แต่ในนี้มันเกิดขึ้น” เป็นคำอธิบายสั้นๆ จากวิระไซคำ พิลาพันเดช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอีซูซุ ลาว วีเอสเอ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุอย่างเป็นทางการใน สปป.ลาว กับผู้จัดการ 360 ํ
ตลาด รถยนต์ในลาว เริ่มปรากฏสีสันอย่างชัดเจนขึ้น ตั้งแต่เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่ประมาณปี 2547 (2004) เป็นต้นมา ด้วยเหตุจากปัจจัย 2-3 ประการ
ปัจจัยประการแรก ปี 2547 รัฐบาล สปป.ลาวมีนโยบายผ่อนคลายมาตรการจำกัดโควตานำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายในลาว ทำให้มีการนำรถยนต์เข้ามาจำหน่าย มากขึ้น
ปัจจัยอีกประการ ซึ่งแม้ไม่ได้เกิดขึ้นในลาวโดยตรง แต่มีผลต่อเนื่องกัน คือในเดือนสิงหาคม 2547 โตโยต้าได้เปิดตัวรถกระบะโตโยต้า วีโก้ครั้งแรกของโลกในประเทศไทย ความนิยมที่มีต่อโตโยต้า วีโก้ ในไทยเป็นตัวจุดพลุ กระตุ้นความต้องการ ซื้อรถยนต์ในลาวให้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
มีข้อเท็จจริงบางประการซึ่งต้องทำความเข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของตลาดรถยนต์ในลาว คือ
1-ราคาขายรถยนต์ในลาว จะตั้งเป็น เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
2-คน ลาวส่วนมากเวลาซื้อรถจะนิยมซื้อด้วยเงินสด เพราะไม่ต้องการเป็นหนี้ ประกอบกับเพิ่งมีบริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจเช่า ซื้อรถยนต์ในลาวอยู่เพียง 2 บริษัท ที่เริ่มเปิดให้บริการมาเพียง 1 ปีเท่านั้น
3-ประชาชนลาว บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อไทย โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ เพราะฉะนั้นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดรถยนต์ไทย เมื่อถูกนำเสนอผ่านทาง โทรทัศน์ไทย จะเป็นที่รับรู้ของคนลาวทั้งหมด
และ 4-ประชากรลาวมีความจงรักภักดีในแบรนด์โตโยต้าเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับมีคำกล่าวทีเล่นทีจริงของคนที่อยู่ในธุรกิจยานยนต์ส่วนหนึ่งของลาวว่า “ลาวเป็นเมือง ของโตโยต้า” เพราะโตโยต้าเป็นแบรนด์ที่ครองตลาดในลาวเป็นอันดับ 1 มาตลอด นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2518 (1975)
ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศผ่อนคลาย การจำกัดโควตานำเข้าเมื่อปี 2547 ว่ากันว่า กว่า 80% ของรถยนต์ที่วิ่งอยู่ในลาว เป็นรถโตโยต้า!!!
“ก่อน ปี 2005-2006 ในเวียงจันทน์ไม่ค่อยมีรถเลย แต่พอเริ่มมีการขายรถ ผู้นำในตลาดนั้นก็คือโตโยต้า ซึ่งเข้ามาในตลาดนี้นานแล้ว ตอนนั้นที่เราเข้ามาในธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจที่คนรู้จักแต่โตโยต้า ยี่ห้ออื่นไม่เคยรู้จักเลย” Christophe Felix Country Manager ของ RMA Laos ในเครือ RMA Group ผู้นำรถยนต์ฟอร์ดเข้ามาเปิดตลาดในลาวยืนยัน
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเรื่อง “ทำไมในลาว...ต้องโตโยต้า” และเรื่อง “RMA Laos สำหรับฟอร์ด ขอแค่ที่ 2”)
ตัว เลขนี้เพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ที่โตโยต้าเริ่มมีคู่แข่ง เพราะ มีรถยนต์แบรนด์อื่นๆ เริ่มเข้ามาตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และทำตลาดอย่าง จริงจังในลาว
แต่คู่แข่งที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการ ตลาดจากโตโยต้ามากที่สุด คือการเข้ามาของรถยนต์จากเกาหลีและจีน ซึ่งก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่ง ที่กระตุ้นให้ตลาดรถยนต์ในลาวมีความคึกคักขึ้น
รถยนต์จากเกาหลีและจีนมีราคาจำหน่ายต่ำกว่ารถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น โดยเฉพาะ โตโยต้าถึงมากกว่าครึ่ง
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีนและเกาหลีถูกกว่าอัตรา ภาษีนำเข้ารถยนต์จากแหล่งอื่น
สปป.ลาว เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราที่แตกต่างกัน โดยอัตราภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากจีนจะต่ำที่สุด รองลงมาคือเกาหลี ญี่ปุ่น ส่วนรถที่นำเข้าจากยุโรปหรือสหรัฐ อเมริกา จะถูกเก็บภาษีสูงที่สุด
ที่ เป็นเช่นนี้เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือลาวค่อนข้างมาก ขณะที่เกาหลีเป็นประเทศที่มีการช่วยเหลือรองลงมา แต่มีการเข้าไปลงทุนในลาวอยู่จำนวนไม่น้อย
การเข้ามาของรถจากเกาหลี และจีน นี่เอง เป็นส่วนหนึ่งที่วิระไซคำถึงกับต้องใช้ คำว่า “แปลก” เมื่อเปรียบเทียบภาพตลาด รถยนต์ระหว่างของลาวและไทย
ปัจจัยสำคัญที่ สุด ซึ่งทำให้ตลาด รถยนต์ลาวคึกคักขึ้นในช่วง 5 ปีมานี้ก็คือ ภาพรวมของเศรษฐกิจลาวที่มีการขยายตัว สูงมาก อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” ที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อกว่า 20 ปีก่อน เริ่มปรากฏ ผลออกมาอย่างชัดเจน ในช่วง 5 ปีนี้
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของลาวในช่วงนี้เติบโตในอัตราที่สูงมาก ทำให้คนในประเทศได้รับโอกาสใน การก่อร่างสร้างตัวจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากโครงการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ อุตสาหกรรมการเกษตร ก่อสร้าง หรือธุรกิจบริการ ฯลฯ
ในช่วงนี้คนลาวหลายคนมีกำลังซื้อ มากขึ้น ขณะที่อีกหลายคนที่มองเห็นหรือได้รับโอกาสก่อนคนอื่น ก็สามารถสร้างฐานะของตนเองจนร่ำรวยขึ้น
กล่าวได้ว่าในช่วง 5 ปีมานี้ ในสังคม ของลาวมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
กลุ่ม คนที่อยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัว คนที่เริ่มมีกำลังซื้อ และเศรษฐีใหม่เหล่านี้ คือตลาดใหญ่ ที่ทำให้ธุรกิจยานยนต์ของลาวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฟื่องฟูอย่างมีสีสัน...
หากมองภาพรวมของตลาดรถยนต์ ของลาวในปัจจุบัน สามารถแยกออกได้เป็นกลุ่มต่างๆ ตามกำลังซื้อ วัตถุประสงค์ ในการใช้รถของประชาชน
ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือรถกระบะ แต่ตลาดนี้ยังต้องแยกเป็นกลุ่มย่อยออกไปอีก
ข้อ เท็จจริงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในตลาดรถกระบะของลาวนั้น รถกระบะ 2 ประตู ประเภทที่มี Cap หรือมี ห้องโดยสารใหญ่สามารถวางที่นั่งได้ 2 แถว เช่น พวก Big Cap หรือ Space Cap แทบจะไม่มีให้เห็นในลาว
เหตุผล เนื่องจากอัตราภาษีระหว่างรถกระบะ 2 ประตูประเภท Big Cap หรือ Space Cap กับรถกระบะ 4 ประตู แตกต่างกันไม่มาก ดังนั้นคนลาวที่มีกำลังพอที่จะซื้อรถกระบะที่สามารถนั่งได้ 2 แถว จึงเลือกที่จะซื้อรถกระบะ 4 ประตูไปเลย เพราะราคาแพงกว่ากันเพียงเล็กน้อย
“ภาษี สำหรับรถที่มี cap กับรถ 4 ประตู มันต่างกันแค่พันกว่าเหรียญ หรือ 3 หมื่นกว่าบาท เพราะฉะนั้นลูกค้ามาเห็น ก็คิดว่าถ้าจะซื้อทั้งที เพิ่มอีกพันเดียว ออกเป็น 4 ประตูไปเลยดีกว่า ก็เลยเป็นอย่างนี้” วิระไซคำอธิบาย
ดังนั้น ตลาดรถกระบะของลาวจึง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มล่าง ได้แก่ ตลาดรถ กระบะ 2 ประตู ที่นั่งแถวเดียว และกลุ่มบนก็คือตลาดรถกระบะ 4 ประตู โดยปัจจัยที่เป็นตัวแบ่งคือราคา และวัตถุ ประสงค์ในการใช้
อนุมานง่ายๆ คือตลาดรถกระบะ 2 ประตู เป็นตลาดสำหรับผู้ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว หรือเริ่มจะสร้างฐานะ ต้องการรถสำหรับใช้ในการทำงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้าง ขนสินค้า หรือขนสินค้าไปจำหน่ายเอง ซึ่งรถประเภทนี้ต้องมีความจุของกระบะมากกว่า สมบุกสมบันมากกว่า ที่สำคัญคือราคาต่ำกว่า
ส่วนตลาดรถกระบะ 4 ประตู เป็นตลาดสำหรับผู้ที่มีฐานะหรือมีกำลังซื้อขึ้นมาแล้ว ในระดับหนึ่ง รถที่ใช้จึงเป็นรถกึ่งอเนกประสงค์ สามารถนำไปใช้งานได้ ขนของได้ หรือใช้เป็นรถครอบครัวสำหรับการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ก็ได้ แต่จะมีราคาสูงกว่า
ตลาดรถกระบะ 2 ประตู ในปัจจุบันตกเป็นของรถกระบะจากเกาหลีเป็นหลัก เพราะมีราคาถูกกว่ามาก ส่วนรถกระบะ 4 ประตู ปัจจุบันโตโยต้าเป็นผู้ครองตลาดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือฟอร์ด มิตซูบิชิ และอีซูซุ
หากดูจากปริมาณรถ จำนวนรถกระบะ 2 ประตูจากเกาหลีมีสัดส่วนสูงกว่ารถกระบะ 4 ประตู เพราะยังมีคนลาวอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการสร้างเนื้อสร้างตัว จึงจำเป็นต้องมีรถกระบะ 2 ประตูเอาไว้สำหรับการใช้งานโดยเฉพาะ และต้องเป็นรถที่มีต้นทุนต่ำ
“จริงๆ ถ้าดูตลาดรวมทั้งหมด ก็ไม่ถึงกับว่าเป็นเมืองโตโยต้า ยอมรับว่าตลาดก็ยัง เป็นของรถเกาหลีอยู่ แต่ถ้าแยกเซกเมนต์กันชัดเจน ก็ยังเป็นโตโยต้า” ยาสุโอะ พิลาพันเดช รองกรรมการผู้อำนวย บริษัทลาวโตโยต้า บริการ ผู้นำเข้ารถโตโยต้ามาจำหน่ายเป็นราย แรกในลาวบอก
เมื่อเทียบราคาขาย ระหว่างรถกระบะ 2 ประตูของเกาหลีกับรถกระบะ 4 ประตู ที่เป็นรถกึ่งอเนกประสงค์ จะเห็นความแตกต่างกันชัด รถเกาหลีจะขายอยู่ระดับราคา 7,000-10,000 ดอลลาร์ ขณะที่รถกระบะ 4 ประตู ราคาขายอยู่ระดับตั้งแต่คันละ 20,000 ดอลลาร์ขึ้นไป
รถกระบะเกาหลี นั้นเริ่มเข้ามาในลาวได้ประมาณ 4 ปีแล้ว แต่เป็นลักษณะของการนำชิ้นส่วนและอะไหล่รถเก่าจากประเทศเกาหลี มาตั้งโรงงานประกอบใหม่ในลาว ทำให้สามารถขายได้ในราคาที่ถูกมาก เพราะฉะนั้นจึงได้รับความนิยมจากคนลาวที่กำลัง อยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวเป็นอย่างมาก
ในกลุ่มนี้ แบรนด์ที่ครองตลาดมากที่สุดคือ Hyundai กับแบรนด์ Kolao ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับตลาดรถยนต์ในลาวโดยเฉพาะ เพราะมีทั้งรถกระบะ รถตู้และรถจักรยานยนต์ (Kolao เป็นการเชื่อมคำระหว่าง Korea กับ Lao)
แต่ในระยะหลังมีรถกระบะจากจีนที่ใช้แบรนด์ Go Now ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อล้อกับแบรนด์ Kolao ของเกาหลี เริ่มออกมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากรถกระบะเกาหลีบ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก
จุดน่าสนใจของรถกระบะ Go Now คือการนำจุดเด่นของรถโตโยต้าและอีซูซุมาผสมผสานกัน โดยส่วนหน้าตั้งแต่กระจังหน้า ห้องเครื่อง และห้องโดยสาร ออกแบบ มาให้คล้ายคลึงกับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ ขณะที่ส่วนท้ายซึ่งเป็นกระบะหลังนั้นออกแบบ ให้คล้ายคลึงกับอีซูซุ ดีแม็กซ์
ดังนั้น หากใครที่ซื้อรถ Go Now แล้วเกิดปัญหาสามารถหาอะไหล่ได้จากทั้งโตโยต้าและอีซูซุ
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกไปอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน สำหรับตลาดรถกระบะในลาว!!!
“ที่ เขาซื้อเพราะกำลังซื้อของเขาตอนนี้มีเท่านี้ แต่พอเขาซื้อไป หาเงินไป เก็บเงินไป ผมรับประกันว่าต่อไปเขาก็ต้อง มาซื้อรถจากเรา” เป็นเป้าหมายที่วิระไซคำ ตั้งความหวังเอาไว้สำหรับกลุ่มลูกค้าที่กำลัง อยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวในขณะนี้
สำหรับรถที่มีตลาดใหญ่รองลงมาจากรถกระบะ คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่ง หมายรวมทั้งตลาดของรถซีดาน หรือรถเก๋ง และรถประเภท SUV
ตลาดนี้ก็ยังต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยอีกเช่นกัน
หลาย ปีก่อนหน้านี้ บนถนนในลาวมีรถเก๋งวิ่งอยู่เพียงไม่กี่คัน เนื่องจากความจำเป็นในการใช้รถของคนส่วนใหญ่ มักใช้แต่รถกระบะกับรถจักรยานยนต์ ประกอบกับสภาพของถนนหนทางในลาวขณะนั้นยังไม่ค่อยดี จึงไม่เหมาะกับการขับรถเก๋ง
ผู้ที่ใช้รถเก๋งในช่วงนั้นส่วนใหญ่คือ ผู้บริหารประเทศ หรือคนที่อยู่ในรัฐบาล
จน เมื่อระยะหลังโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2543 (2000) เป็นต้นมา ที่ลาวเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีองค์กรทั้งจากภาครัฐ เอกชน และองค์กร ที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) จากต่างประเทศ เข้ามาตั้งสำนักงานอยู่ในลาวเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้บริหารขององค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องใช้รถเก๋ง
ประกอบกับ เงื่อนไขหนึ่งในการเปิด รับการลงทุนจากต่างประเทศ ก็คือองค์กรที่เข้ามาลงทุนในลาว จะได้รับโควตาให้สามารถนำรถเข้ามาใช้ในลาวได้ โดยเสียภาษีเพียง 1% และจำนวนรถที่สามารถนำเข้ามาได้ก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าของเงินที่ได้นำเข้ามาลง ทุน คือยิ่งลงทุนมากเท่าไร ก็สามารถนำรถเข้ามาในลาวได้มากเท่านั้น
ทำ ให้ตั้งแต่ปี 2545 (2002)-2546 (2003) เป็นต้นมา ปริมาณรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในลาวจึงเพิ่มสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ประเภทรถหรู (Luxury Car) ที่มีราคาแพง เพื่อให้ผู้บริหารหน่วยงานได้ใช้เดินทางไปติดต่อธุรกิจ
รถหรูเหล่านี้มีทั้งที่เป็นประเภทซีดาน หรือรถเก๋ง และรถ SUV อาทิ เบนซ์ โตโยต้า แลนด์ครุยเซอร์ พราโด้ เลกซัส บีเอ็มดับบลิว ฯลฯ
การ ที่เริ่มมีรถส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง หรือ SUV ประเภทรถหรูของผู้บริหารองค์กรจากต่างประเทศออกมาวิ่งบนถนนในลาวมากขึ้น ได้ก่อให้เกิดตลาดรถยนต์ ใหม่เพิ่มขึ้นในลาวอีก 1 ตลาด นั่นคือตลาดของรถหรูโดยเฉพาะ
เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เศรษฐกิจของลาวกำลังฟื้นตัวขึ้น เริ่มมีเศรษฐีใหม่จำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจปรากฏตัวออก มาแล้ว
สิ่งซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐีใหม่เหล่านี้ ก็คือรถยนต์
“แนว โน้มของตลาดรถหรูเริ่มปรากฏให้เห็นระหว่างปี 2002-2003 เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา แต่ระหว่างปี 2004-2005 หรือปี 2005 มานี่ จะขึ้นมาเร็วมากเลย ระหว่างปี 2005 ถึงปี 2008 คนจะซื้อรถหรูกันมาก” อาโนลัก ทำมะวง ผู้จัดการทั่วไป บริษัทโอโต ลาว จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ อย่างเป็นทางการในลาวให้ภาพ
และการเกิดตลาดกลุ่มใหม่ก็ยังได้ทำให้มี ผู้เล่นประเภทใหม่ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับตลาดรถยนต์ของลาวเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม นอกเหนือจากผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทน จำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Authorize Dealer) นั่นคือกลุ่มผู้นำรถยนต์เข้าอิสระ (Grey Market) เพื่อตอบสนองความต้องการซื้อรถของกลุ่มลูกค้าในตลาดรถหรูโดยเฉพาะ
ข้อมูล ที่น่าสนใจสำหรับตลาดรถหรูของลาว คือในตลาดนี้ไม่มีแบรนด์ใดที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 เพราะจะเปลี่ยนไปตามความนิยม และรสนิยมของผู้ซื้อเป็นหลัก เนื่องจากผู้ซื้อแต่ละรายล้วนเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อทั้งสิ้น
แต่ พฤติกรรมที่เหมือนกันของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อเหล่านี้คือต้องการมีรถที่ ไม่เหมือน กับชาวบ้าน รถที่ใช้จะต้องมีความโดดเด่นกว่า รุ่นใหม่กว่า หรือเครื่องแรงกว่า ฯลฯ รถที่ คนอื่นมีอยู่
โดยเฉพาะรถประเภท SUV ที่ในตลาดลาวมักนิยมเครื่องยนต์ขนาดที่สูงกว่า 3,000 ซีซี เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มองว่าเป็นรถที่แรง
“ลูกค้า แต่ละรุ่นจะชอบไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นนักบริหาร นักธุรกิจที่เข้ามาทำโครงการ เขาจะเล่นพวกรถราคาแพงๆ เป็นรถประเภทพวกโฟร์วีล พวกเลกซัส ซึ่งเลกซัสก็เป็นตัวใหญ่ 570 ต่อมาก็เป็นเบนซ์ เป็นเบนซ์ จีแอล แล้วกลุ่มที่อยู่ในตัวเมือง เขาก็จะเล่นพวกเอสคลาส แล้วก็พวกเลกซัส 600 อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นพวกวัยรุ่น คนทำงาน ก็จะเป็นพวกคัมรี่” สุกสะหมอน สีหะเทพ ประธานบริษัท มะนียม โอโต กรุ๊ป ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายหนึ่งของลาวอธิบาย
ความต้องการสินค้าที่หลาก หลายของกลุ่มลูกค้าผู้ที่มีกำลังซื้อเหล่านี้ ทำให้ตลาด ของผู้นำเข้ารถยนต์อิสระเปิดกว้างกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทน จำหน่ายอย่างเป็นทางการของรถยนต์แต่ละแบรนด์ เพราะตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจะถูกจำกัด เรื่องรุ่นของรถที่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายจากบริษัทแม่ แต่ผู้นำเข้าอิสระไม่ถูกจำกัด สามารถนำรถยนต์เข้ามาในลาวได้ทุกรุ่น
ปัจจุบัน ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระในลาวมีอยู่หลายราย แต่รายที่ใหญ่และทำธุรกิจอย่าง จริงจัง มีอยู่ 2 ราย คือบริษัทมะนียม โอโต กรุ๊ป และบริษัทลาว อินเตอร์ โอโต กรุ๊ป ในเครือสีเมือง กรุ๊ป
ส่วนตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ของรถยนต์ประเภทหรู นอกจากโอโต ลาว ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถเมอร์ซิเดส เบนซ์แล้ว RMA Laos ก็เพิ่งนำรถแลนด์ โรเวอร์ เข้ามาเปิดตลาดในลาวได้สักประมาณเกือบ 2 ปีมาแล้ว
เจ้าหน้าที่ประจำ โชว์รูมของแลนด์ โรเวอร์ ในเวียงจันทน์ บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่ารถแลนด์ โรเวอร์ ที่ได้รับความนิยมจากคนลาวมากที่สุดเป็นรุ่นที่มีเครื่องยนต์ 6,000 ซีซี!!!
“ทิวแถวเลกซัส บีเอ็มฯ แลนด์ครุยเซอร์ พราโด้ สลับด้วยเบนซ์ และซังยอง ล้วนติดป้ายทะเบียนรถลาว กำลังรอข้ามด่านหนองคายเพื่อเข้ามาจับจ่ายซื้อของใช้และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ “บิ๊กเจียง” ห้างใหญ่ ที่สุดในหนองคาย ลานจอดรถหน้าห้างเต็มไปด้วยรถราจำนวนมาก ยิ่งในวันหยุดต้องใช้เวลาวนอยู่นานกว่าจะได้ที่จอด จำนวนครึ่งต่อครึ่งเป็นรถป้ายทะเบียนลาว” เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของเรื่อง “Nongkhai in the Mid of Changing Tide” ซึ่งนำเสนอเป็นเรื่องจากปกของนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนเมษายน 2551 บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์การใช้รถยนต์ของคนลาวตั้งแต่เมื่อกว่า 3 ปีก่อน
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www. gotomanager.com)
คน ที่เคยพบเห็นรถหรูติดป้ายทะเบียนลาววิ่งอยู่บนถนนสายอุดร-หนองคาย หลายคนเข้าใจว่าการที่ลาวมีรถหรูใช้เป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากอัตรา ภาษีนำเข้าต่ำ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะในสายตาของคนลาว
“ก็ ไม่รู้ว่าจะแพงกว่าหรือเปล่า แต่สำหรับคนลาวเองถือว่าแพง เพราะว่าถ้าเป็นรถเก๋งก็เกือบ 100% ถ้าเป็นรถหรูหรือถ้าเป็น SUV ก็จะเป็น 140-160% ก็เรียกว่า แพง แต่ว่าในสายตาของทางแขกบ้านแขกเมือง เขาอาจจะเข้าใจกันอย่างนั้น” อักคะเดด นามมะจัก ผู้จัดการทั่วไป บริษัทลาว อินเตอร์ โอโต กรุ๊ป บอก
ราคารถหรูที่ขายกันอยู่ในลาวนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ระดับ 1 แสนดอลลาร์ขึ้นไป
ปัจจุบัน มาตรการที่ให้นักลงทุนต่าง ชาติที่เข้ามาลงทุนในลาวสามารถนำรถเข้ามาได้โดยเสียภาษีเพียง 1% นั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2552 (2009) แต่ความนิยมซื้อรถหรูของคนลาวก็ยังไม่หยุด
ตลาดรถหรูในลาวยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในลักษณะที่สุกสะหมอนจากมะนียม โอโต กรุ๊ป บอกว่าแนวโน้มของตลาดนี้ยังไปได้เรื่อยๆ
“ปี 2009 นโยบายตัวนี้ได้หยุดไป แต่เรื่องตลาดที่เมืองลาวเดี๋ยวนี้คนมีสตางค์ แล้วเศรษฐกิจก็ดีขึ้นมามากแล้ว เขาก็สามารถซื้อได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องโควตาหรือการบวกภาษีอะไรพวกนี้” เป็นความเห็นของอาโนลักจากค่ายเบนซ์
“เมื่อก่อนรถหรูจะเป็นตลาดเล็กๆ เฉพาะคนที่มีเงินจริงๆ จึงจะสามารถใช้รถพวกนี้ได้ แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว คนที่มีฐานะปานกลางหรือผู้ที่มีเงินก็สามารถซื้อได้ เพราะว่าในลาวมีสถาบันการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน” เป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งของอัคคะเดด จากลาว อินเตอร์ โอโต กรุ๊ป
นี่ คือภาพส่วนหนึ่งของตลาดรถหรู ตลาดย่อยในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของลาว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มาก แต่มีสีสัน และมีมูลค่าสูง
สำหรับ ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยรวม โดยเฉพาะตลาดรถเก๋งนั้น ภาพความ คึกคักได้ปรากฏชัดเจนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วนี่เอง โดยผู้ที่ได้เข้ามาปลุกตลาดรถเก๋งในลาวให้ตื่นตัวขึ้น ก็คือแบรนด์รถเก๋งจากจีน
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จีนได้นำรถเก๋งขนาดเล็กเข้ามาทำตลาดโดยอาศัยราคาที่ต่ำ ดึงดูดให้คนลาวส่วนหนึ่งซึ่งเคยใช้รถจักรยานยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น ที่เมื่อเริ่มมีรายได้ดีขึ้น ก็อยากจะเปลี่ยนมาขับรถเก๋งจากจีนแทน เพราะมีราคาแพงกว่ารถจักรยานยนต์ไม่มากนัก
ประกอบกับถนนหนทางในลาว ระยะหลังได้รับการพัฒนาขึ้น ทำให้คนลาวรุ่นหลังๆ ที่เริ่มมีฐานะขึ้นมาบ้างแล้ว กล้าที่จะซื้อรถเก๋งมาขับมากขึ้น
แบรนด์ที่จีนนำเข้ามาเปิดตลาดในลาว ได้แก่ Cherry และ BYD (ย่อมาจาก Built Your Dream)
ต่อ มา เมื่อตลาดรถเก๋งเริ่มเปิดกว้าง ผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์จากเกาหลีจึงได้เริ่ม แนะนำรถเก๋งเข้าสู่ตลาดลาวเพิ่มขึ้นมาอีก โดยเฉพาะ Hyundai
ขณะที่ ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของทั้งโตโยต้า มิตซูบิชิ ฟอร์ด ซึ่งมีไลน์ ของสินค้าประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสำหรับตลาดรถเก๋งเช่นกัน ยังไม่ได้นำเสนอรถประเภทนี้เข้าสู่ตลาดอย่างจริงจัง เพราะยังเป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่า หากเทียบกับรถเก๋ง จากจีนและเกาหลี
แต่ เชื่อว่าทุกรายล้วนมีแผนการตลาดสำหรับการบุกเบิกตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ในลาวอยู่แล้ว เพราะการเปิดตลาดด้วยรถเก๋งราคาถูกจากจีน ได้ช่วยสร้างตลาดรถเก๋งให้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในลาว
จากเดิมที่ไม่เคยมีตลาดนี้มาก่อน...
นอก จากตลาดรถกระบะกับตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว รถยนต์ในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ก็มีความน่าสนใจ เพราะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะ 3-4 ปีมานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มรถตู้โดยสาร
หลายปีมานี้ ลาวเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศไทย เนื่องจากความใกล้ชิดทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาพูดที่สามารถ สื่อสารกันได้อย่างสะดวก ประกอบกับการที่ในลาวมีสถานที่หลายแห่งที่ถูกยกขึ้นเป็นมรดกโลก อาทิ เมืองหลวงพระบาง และปราสาทวัดพู ทำให้มีชาวไทยต้องการไปเที่ยวที่ลาวมากขึ้น
พาหนะที่สะดวกที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็คือรถตู้
ปัจจุบัน รถตู้ในลาวส่วนใหญ่เป็นรถตู้แบรนด์เกาหลี โดยเฉพาะ Hyundai และ Kolao ซึ่งเป็นรถมือสอง มีราคาต่ำกว่า ตกประมาณคันละไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์
โต โยต้าได้เริ่มนำโตโยต้า คอมมิวเตอร์ เข้าไปทำตลาดในลาวประมาณ 1 ปีเศษที่ผ่านมา แต่ตลาดยังแคบ เพราะมีราคาแพงกว่ารถตู้เกาหลี โดยมีราคาขายตกประมาณ คันละ 30,000 ดอลลาร์ ตลาดของโตโยต้า คอมมิวเตอร์ ปัจจุบันจึงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม โรงแรมขนาดใหญ่ที่ซื้อไว้สำหรับนำมาให้บริการแก่ลูกค้าของโรงแรม
อย่าง ไรก็ตาม ตลาดของรถตู้จะมีความคล้ายคลึงกับตลาดของรถกระบะ เพราะคนขับรถตู้รับจ้างแทบทุกรายในลาวล้วนตั้งความหวังไว้ในวันนี้ว่า หากพวกเขานำรถเกาหลีออกมาวิ่งรับผู้โดยสาร จนเมื่อสามารถสะสมเงินได้ในระดับหนึ่งแล้ว พวกเขาต้องการจะเปลี่ยนรถมาใช้โตโยต้า คอมมิวเตอร์
เพราะด้วยรถที่มี ความใหม่กว่า นั่ง ได้สบายกว่า วิ่งได้นิ่มกว่า เขาสามารถเพิ่ม ราคาค่าโดยสารขึ้นมาได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำ กว่า 1 เท่าตัว...
ภาพของ ถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ประเภทต่างๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์ ภาพของรถหรูที่จอดเรียงรายอยู่ในลานจอดรถของร้านอาหารชื่อดัง รถทุกคันล้วน ใช้ทะเบียนที่เป็นเลขตอง หรือเลขตัวเดียว กันทั้ง 4 หลัก ตลอดจนภาพของรถที่ติดป้ายทะเบียนลาว วิ่งไป-มาบนถนนสายขอนแก่น-อุดร-หนองคาย หรือในที่จอดรถของศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า ที่ขอนแก่น และอุดรธานี
เหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงตลาดรถยนต์ของลาวที่กำลังคึกคักขึ้น
แต่อย่าลืม...ภาพเหล่านี้เพิ่งปรากฏ อยู่บริเวณใกล้เคียงกับนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งจุดศูนย์กลางของประเทศเท่านั้น
ตาม แขวงต่างๆ บนถนนหนทางยังไม่มีรถราที่หนาแน่นเหมือนบนถนนในนครหลวงเวียงจันทน์ทุกวันนี้ แต่อาจจะมีบ้างในอีก 4 เมืองหลัก คือหลวงพระบาง ปากเซ คำม่วน และสะหวันนะเขต
แสดงถึงโอกาสของตลาดรถยนต์ในลาวยังคงเปิดกว้าง
ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ของธุรกิจรถยนต์อย่างแท้จริง
ที่มา : ผู้จัดการ 360 gotomanager
- Blogger Comment
- Facebook Comment
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น
(
Atom
)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น